Lenovo IdeaPad C340 เป็น 2-in-1 Notebook ดีไซน์หรูหรากะทัดรัด หน้าจอ 14″ ขอบจอบาง พาเนล IPS จอทัชสกรีนมีปากกา มาพร้อมขุมพลังชิปประมวลผล AMD Ryzen 7 3700U พร้อมการ์ดจอออนชิป Radeon VEGA 10 ส่วนสเปกอื่นๆ ก็มาพร้อมกับหน่วยความจำแรมขนาด 4GB และแหล่งเก็บข้อมูล SSD M.2 NVMe ความจุ 512GB พร้อมกับ Windows 10 แท้ในตัว ซึ่งมีราคาวางจำหน่ายอยู่ที่ 23,990 บาท ประกัน 2 ปี ส่วนอีกรุ่นราคาถูกกว่าที่ 16,990 บาท ใช้ชิปประมวลผล AMD Ryzen 5 3500U ได้ SSD เป็นความจุ 256GB
ตัวเครื่องบางเพียง 17.9 มิลลิเมตร และเบาเพียง 1.65 กิโลกรัม มาพร้อมกับความเรียบหรูเน้นความคุ้มค่า เป็นโน้ตบุ๊คที่รองรับการใช้งาน Multi-Mode จากทาง Lenovo โดยได้บานพับ 360 องศา รองรับการใช้งานหลากหลายโหมดได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งยังมีอุปกรณ์เสริมอย่าง Lenovo Active Pen ที่มีเทคโนโลยี Palm-Rejection ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติขณะเขียนเหมือนการเขียนปากกาบนกระดาษ ให้เสียงนุ่มจากลำโพงคุณภาพอย่าง Dolby Audio ที่สำคัญได้โปรแกรม Office Home & Student 2019 มูลลค่า 4,290 บาทมาให้ทันทีด้วย
VDO Review
Specification
Lenovo IdeaPad C340 เครื่องที่แอดมินโป้งได้มารีวิวนั้นจะเป็นเครื่องเดโม ไม่ใช่เครื่องขายจริง แต่สเปกจะเหมือนกันกับรุ่นราคา 23,990 บาท ได้ชิปประมวลผล AMD Ryzen 7 3700U (2.30 GHz up to 4.00 GHz) ตัวประหยัดพลังงานแบบ 4 Core/ 8 Thread การ์ดจอเป็นแบบออนบอร์ด AMD Radeon RX VEGA 10 สถาปัตยกรรมการผลิตที่ 12 นาโนเมตร ส่วนหน่วยความจำแรมก็ให้มา 4GB DDR4 Bus 2400 หน่วยความจำหลักเลือกใช้ SSD M.2 NVMe ความจุ 512GB ที่เพียงพอต่อการใช้งานแน่นอน
ส่วนหน้าจอจะเป็นแบบกระจกมัลติทัชขนาด 14″ รองรับสัมผัสด้วยนิ้วมือและปากกา Stylus รองรับแรงกดได้หลายระดับ พาเนลจอเป็น IPS ความละเอียด 1920 x 1080 พิกเซล (Full HD) แถมตัวคีย์บอร์ดยังมีไฟ LED Backlit สีขาวมาให้ด้วย ที่สำคัญตัวเครื่องยังบางเฉียบกว่าเดิม และมีน้ำหนักเบาเพียง 1.65 กิโลกรัมเท่านั้น พร้อมพับปรับได้ 360 องศา ได้การรับประกัน 2 ปีเต็มจากทาง Lenovo ประเทศไทย
การเชื่อมต่อก็มีมาอย่างครบถ้วน ทั้ง HDMI, 2 x USB 3.1, USB 3.1 Type-C, Kensington Lock, 2-in-1 SD และ Headset 3.5mm พร้อมยังรองรับมาตรฐานการเชื่อมต่อไร้สายอย่าง Bluetooth 4.2 และ Wi-Fi 5 มาตรฐาน AC ระบบปฏิบัติการ Windows 10 แท้ในตัว ในราคาเพียง 23,990 บาทเท่านั้น สำหรับรุ่นสเปกที่เราได้มาทดสอบ
Keyboard / Touchpad
คีย์บอร์ดนั้นตัวปุ่มเป็นสีเดียวกับตัวเครื่องพร้อมตัวอักษรโปร่งแสง มีการออกแบบมาให้ปุ่มมีความโค้งรับกับนิ้วมือได้พอดีสไตล์ Lenovo ทำให้สามารถพิมพ์ได้ง่ายขึ้น กับมาตรฐานคีย์บอร์ด 4 แถวขนาด Full Size อีกทั้งด้านการใช้งานในการพิมพ์ ก็ยังเด้งตอบสนองได้เป็นอย่างดีทั้งขนาดแป้นพิมพ์ที่รับกันนิ้วและช่องว่างระหว่างแป้นที่ทำให้มีความแม่นยำในการกดในส่วนของไฟ LED Backlit ปรับความสว่างได้ 2 ระดับ ก็สามารถใช้งานได้ดีทีเดียว ส่วนปุ่มเปิดเครื่องจะไปอยู่ที่ขอบขวาของตัวเครื่องพร้อมไฟส่องสว่างแสดงสถานะ
ทัชแพดมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดตัวเครื่อง ส่วนดีไซน์นั้นก็ใช้เป็นแบบไม่มีปุ่มแยกออกมาเช่นเดียวกับโน้ตบุ๊คปัจจุบันหลายๆ รุ่น การใช้งานจัดได้ว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ที่สำคัญการเข้าใช้งานผ่านทาง Windows Hello ของ Windows 10 ยังสามารถทำได้ด้วยระบบสแกนลายนิ้วมือ แน่นอนว่าทำให้เราไม่ต้องกรอกรหัสแบบเดิมๆ อีกต่อไป แถมยังปลอดภัยและรวดเร็วด้วย ซึ่งจากการใช้งานจริงแล้ว ถือว่าทำได้ดีได้ไวมากๆ ไม่ต่างจากสมาร์ทโฟนในตลาดปัจจุบันเลย
Screen / Speaker
หน้าจอของ Lenovo IdeaPad C340 มีขนาด 14″ ที่มีขอบบาง ซึ่งเป็นแบบจอกระจกให้สีสันที่สดใส (แต่ก็ต้องระวังเรื่องของแสงสะท้อน) โดยตัวจอรองรับการใช้งานทั้งนิ้วมือและปากกาแบบมัลติทัช ไม่แค่นั้นตัวเรื่องยังสามารถรองรับแรงกดได้หลายระดับ อีกทั้งยังสามารถพับปรับจอได้ 360 องศาอีกด้วย ตัวจอเป็นพาเนล IPS ทำให้สีสันคมชัดสมจริงไม่ว่ามองมุมไหน แถมมีความละเอียด 1920 x 1080 (Full HD) ซึ่งถือได้ว่าคมชัดเป็นอย่างมาก แต่ตัวจอเองจะเป็นรอยนิ้วมือง่ายไปหน่อยเหมือนใช้งานโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ทางทีมงานแนะนำว่าเวลาซื้อเครื่องมาแนะนำให้ติดฟิล์มกันรอยไว้ด้วยละกันครับ
ซึ่งแม้ขอบจอจะบางเฉียบแต่ก็ได้ติดตั้งกล้องเว็บแคมไว้ด้านบนเหมือนเดิมพร้อมไมโครโฟนแบบคู่ ที่สำคัญยังมาพร้อมฟีเจอร์ TrueBlock Privacy Shutter ม่านชัตเตอร์ปิดเลนส์กล้องที่ทำให้เรามั่นใจว่ากล้องจะเห็นในเวลาที่เราต้องการใช้งานเท่านั้น การใช้งานก็ง่ายมากๆ ด้วยการใช้นิ้วเลื่อนเปิดหรือปิดการใช้งานเท่านั้น เพื่อเติมเต็มประสบการณ์การใช้งานที่สมบูรณ์แบบ เรียกได้ว่าเป็นฟีเจอร์ของ Lenovo ในตอนนี้ก็ว่าได้
ให้ขอบเขตความกว้างของสีสันเทียบเท่ากับมาตรฐาน sRGB ที่ 62% และ Adobe RGB ที่ 47% เรียกได้ว่าให้ประสิทธิภาพเรื่องของสีสันอยู่ในระดับที่น่าประทับใจ ความสว่างหน้าจอสูงสุดอยู่ที่ 250 cd/m2 ซึ่งจัดได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ดีกว่ามาตรฐานความสว่างของหน้าจอในโน้ตบุ๊กทั่วไป คือ พอสู้แสงกลางแจ้งได้ รวมไปถึงการทำงานภาพกราฟิกหรือตกแต่งภาพที่เน้นมืออาชีพมากๆ ก็ทำได้ดีเช่นกัน
ต่อกันที่วัดความสว่างของหน้าจอตามตำแหน่งต่างๆ โดยแบ่งเป็น 9 ช่อง เทียบจากช่องกลางที่ปกติแล้วจะให้ความสว่างที่มากที่สุด ที่จะเห็นได้ว่าช่องกลางหน้าจอเป็น 0% ก็คือแสดงความสว่างได้เต็มที่ที่สุด แต่สำหรับช่องซ้ายมุมล่าง จะมีแสงสว่างที่ลดลงแค่ระดับ 23% เท่านั้น ในการทดสอบก็เพื่อให้เราใช้งานอย่างระมัดระวังสำหรับคนที่บังเอิญจำเป็นต้องใช้งานภาพถ่าย หรืองานกราฟิกอื่นๆ ปิดท้ายด้วยคะแนน 3.5 เมื่อทดสอบด้านการแสดงผลต่างๆ ทั้งหมดแล้ว ผ่านทางอุปกรณ์ Spyder5Elite
ระบบเสียง Lenovo IdeaPad C340 เลือกใช้ของ Dolby Audio ซึ่งวางส่วนของลำโพงไว้ด้านใต้เครื่องทั้ง 2 ข้าง แบบ Stereo ตรงกับส่วนโค้งทำให้เสียงที่ออกมา ไม่มีอะไรปิดกั้นให้เสียงที่ดังดีพอสมควร จนไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องใช้งานในที่เสียงดัง สามารถตอบสนองเรื่องความบันเทิงรวมถึงการฟังเพลงสำหรับคนที่ชอบทำงานได้ดีพอสมควร อาจจะไม่ได้มีเสียงเบสมาก เสียงจะค่อนไปทางเสียงกลาง เสียงแหลมมากกว่า
Connector / Thin And Weight
Lenovo IdeaPad C340 มาด้วยตัวเครื่องที่ค่อนข้างบาง แต่ก็มีพอร์ตเชื่อมต่อที่ครบครับเลยทีเดียวไม่ว่าจะเป็น USB 3.1 Type-A จำนวน 2 พอร์ต, USB 3.1 Type-C จำนวน 1 พอร์ต, 2-in-1 Card-Reader (SD / MMC), HDMI และรูต่อหูฟังกับไมค์แบบ Combo พร้อมปุ่มเปิดเครื่อง (หรือ Wake up / Sleep) และปุ่ม OneKey Recovery ที่สามารถกดเพื่อ Restore ข้อมูลเอกสิทธิ์เฉพาะ Lenovo ซึ่งอยู่ทางด้านขวาตัวเครื่อง การเชื่อมต่อไร้สายรองรับทั้ง Bluetooth 4.2 และ Wi-Fi 5 มาตรฐาน AC
ขนาดของตัวเครื่องจะอยู่ที่ 328 มม. x 229 มม. x 17.9 มม. เมื่อเทียบกับขนาดของโน้ตบุ๊ค 14″ ทั่วไปถือได้ว่ามีมิติที่เล็กกว่าพอสมควร หรือเครื่องนี้มีขนาดเท่าโน้ตบุ๊คจอ 13.3″ เลยทีเดียว ส่วนน้ำหนักตัวเครื่องเปล่านั้นอยู่ที่ 1.65 กิโลกรัม และเมื่อรวมกับตัวอแดปเตอร์เข้าไปด้วย ก็จะมีไม่เกิน 1.8 กิโลกรัม จัดไดว่าเป็นโน้ตบุ๊คที่ตอบสนองทั้งการทำงานและการพกพาได้เป็นอย่างดี พกไปใช้ตาม Coworking Space ร้านกาแฟ ออฟฟิศ หรือมหาวิทยาลัยสบายๆ เลย
Using Experience
Lenovo IdeaPad C340 ตอบสนองได้อย่างหลากหลายจากการที่เป็น 2-in-1 Notebook ที่ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี ด้วยการพับใช้งานถึง 4 รูปแบบด้วยกันไม่ว่าจะเป็น Notebook / Stand / Tent / Tablet ที่ทีมงานของเรานั้นนำไปใช้งานอะไรบ้าง และรูปลักษณ์เมื่อเปลี่ยนไปใช้โหมดต่างๆ นั้น จะมีลักษณะเป็นอย่างไร
Notebook Mode เป็นรูปแบบธรรมดาทั่วไปเหมือนกับโน้ตบุ๊คปกติ เน้นสำหรับการใช้งานทั่วไป เล่นอินเตอร์เน็ต รวมไปถึงงานเอกสารต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้คีย์บอร์ดและทัชแพดในการควบคุมเหมือนโน้ตบุ๊คปกติ
Stand Mode เน้นใช้งานที่ระบบจอสัมผัสของตัวเครื่องอย่างเดียวและวางไว้บนพื้นที่ราบ โดยรูปแบบการใช้งานนี้จะเน้นไปทางการใช้งานแอพพลิเคชั่นของ Windows เอง หรือเน้นไปทางการดู Youtube หรือชมภาพยนตร์เป็นหลัก พร้อมรองรับการทำงานแบบมัลติทัชได้พร้อมกันมากสุดที่ 10 จุดพร้อมกัน
Tent Mode ค่อนข้างจะคล้ายกับ Stand Mode ก่อนหน้านี้ แต่จะอยู่ในรูปทรงตั้งเครื่องเอาไว้เป็นลักษณะสามเหลี่ยม ใช้ในการวิวดูข้อมูลการแสดงผลหน้าจอเป็นหลัก อีกทั้งยังสามารถจับพาดหรือเกาะกับสิ่งของรอบๆ ได้
Tablet Mode ด้วยการพับหน้าจอกลับแบบ 360 องศา จนฝาหลังและฐานใต้เครื่องมาติดกัน เราก็จะได้แท็บเล็ตที่มาพร้อมระบบปฏิบัติการ Windows ซึ่งเรามีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เหมาะสำหรับการเอาไว้เล่นเกมหรือดู E-Book อย่างที่แท็บเล็ตอื่นๆ ทั่วไปในตลาดสามารถทำได้
อย่างไรก็ตามสำหรับ Lenovo IdeaPad C340 ก็ต้องบอกว่าวางใจได้เลยเรื่องความทนทาน เพราะมีการออกแบบบานพับที่สามารถเปิดปิดหรือปรับระดับได้อย่างลื่นไหลได้เหมือนใหม่ทุกครั้ง แข็งแรงสามารถหมุนเปิดปิดได้เป็นพันๆ หมื่นๆ ครั้ง อย่างไม่มีปัญหาแน่นอน
ซึ่งบอกได้เลยว่าสำหรับใครที่กำลังมองหาโน้ตบุ๊คบางเบาซักตัวที่พกพาสะดวกในราคาไม่แพง และมีความสามารถครบครันทั้งในเรื่องของการทำงานทั่วไปหรือแท็บเล็ตที่ทำงานร่วมกับโปรแกรมบนระบบปฏิบัติการ Windows 10 และซอฟต์แวร์ในการขีดเขียนต่างๆ และในเรื่องของการทำงานไม่ว่าจะเป็นในเรื่องงานเอกสาร เล่นอินเตอร์เน็ต ชมภาพยนตร์ ฟังเพลง หรือเล่นเกมเล็กๆ น้อยๆ Lenovo IdeaPad C340 ก็สามารถทำได้ดีและเป็นหนึ่งใน 2-in-1 Notebook ที่เป็นตัวเลือกน่าซื้ออันดับต้นๆ เลยทีเดียว
Performance / Software
Lenovo IdeaPad C340 เครื่องนี้มาพร้อมกับชิปประมวลที่เป็น AMD Ryzen 7 3700U รุ่นล่าสุดแบบประหยัดพลังงานโดยมีความเร็วในการประมวลผลอยู่ที่ 2.30 – 4.00 GHz แบบ 4 Core/8 Thread ที่ทั้งแรงมีประสิทธิภาพที่ดี แถมประหยัดพลังงาน สถาปัตยกรรม 12 nm Zen+ รุ่นใหม่ มีค่า TDP 15Watt ที่เพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไป มาพร้อมแรมออนบอร์ดขนาด 4GB DDR4 Bus 2400 MHz
อีกทั้งมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Windows 10 Home Single Language มาตั้งแต่แกะกล่อง ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงเรื่องลิขสิทธิ์ Windows เลยครับ ส่วนถ้าต้องการเคลียร์เครื่อง ก็สามารถใช้งานฟังก์ชัน Reset this PC ที่อยู่ใน Settings ของ Windows 10 ได้เลยโดยไม่ต้องฟอร์แมต SSD เพื่อลง Windows ใหม่
กราฟิกการ์ดเป็นแบบออนบอร์ดอย่าง AMD Radeon RX Vega 10 ที่ให้พลังในการประมวลผลที่ดีในระดับหนึ่ง อย่างในเรื่องของกราฟิก 2 มิตินั้นก็รองรับได้อย่างสบายๆ หรือถ้าเป็น 3 มิติ ก็ต้องบอกว่ารองรับการทำงานได้ดีระดับหนึ่ง สามารถพอเอาไปเล่นเกม 3 มิติเบาๆ ได้บ้าง เหมาะกับการทำงานได้ในระดับเบื้องต้นแบบ 2 มิติ ทำงานกับหน้าจอความละเอียดสูง Full HD ได้แบบไม่มีปัญหา
ส่วนการทดสอบพลังประมวลผลด้วยโปรแกรม Cinebench ก็ให้ผลคะแนนในส่วนของ CPU ได้ดีตามระดับของ AMD Ryzen 7 3700U ส่วนด้านของ OpenGL ก็คะแนนพุ่งกว่าเครื่องที่ใช้ชิปออนบอร์ดทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด เรียกได้ว่าตอบโจทย์ในส่วนของงานประมวลผลหนักๆ ได้อย่างสบายๆ รวดเร็วทันใจแบบสุดๆ สมกับเป็นชิปประมวลผลตัวบนในรุ่นประหยัดพลังงาน ที่ใกล้เคียงกับตระกูล H ทีเดียว โดยดีขึ้นกว่า AMD Ryzen 7 2700U ประมาณนึง
ด้านของ Storage เป็น SSD M.2 NVMe ระดับบน ความจุ 512GB ที่ทำการทดสอบด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark ก็พบว่าความเร็วในการอ่านอยู่ที่ 3376 MB/s ส่วนความเร็วในการเขียนก็อยู่ที่ 1856 MB/s ด้านของความเร็วในการอ่านเขียนไฟล์ก็จัดว่าอยู่ในระดับที่ดีมากๆ สามารถใช้งานทั่วไปได้เหลือเฟือ ยิ่งเมื่อนำไปใช้เทียบกับฮาร์ดดิสก์แบบจานหมุนแล้วละก็จะเห็นถึงประสิทธิภาพทั้งในด้านการทดสอบและในด้านการใช้งานจริงที่แตกต่างกันอย่างเห็นเห็นได้ชัด เรียกได้ว่าเปิดอะไรปุ๊บก็ติดปั๊บ เร็วกว่ามาตรฐาน SATA 3 หลายเท่าตัว
การทดสอบประสิทธิภาพกับโปรแกรม PCMark 10 Advance ซึ่งสามารถทำคะแนนการทดสอบรวมได้มากถึง 3306 คะแนน ถือได้ว่าในส่วนของการใช้งานทั่วไปโดยรวมนั้นสอบผ่านแบบสบายๆ ทั้งในส่วนของการเล่นเว็บไซต์ งานเอกสาร งานตกแต่งรูปภาพ รวมถึงงานตัดต่อวิดีโอ และจากการที่เป็นโน้ตบุ๊คที่ไม่มีการ์ดจอแยก แต่ก็ให้มีคะแนนพุ่งใกล้เคียงมีการ์ดจอแยกในระดับนึงทีเดียว
ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ Lenovo Vantage ก็เรียกได้ว่าเป็นซอฟแวร์ที่มีประโยชน์มาก ช่วยให้ผู้ใช้สามารถจัดการและควบคุมในหลายๆ ส่วนของเครื่องได้ เรียกได้ว่าค่อนข้างละเอียดมากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นอัพเดทไดร์เวอร์ล่าสุด การเปิดปิดอุปกรณ์ต่างๆ ภายในเครื่อง ตั้งค่าทัชแพด การเชื่อมต่อไร้สาย แบตเตอรี่ กล้องเว็บแคม ระบบเสียง และ Fingerprint ที่ต้องบอกว่าซอฟต์แวร์ต่างๆ นั้นไม่ได้ติดตั้งมาให้หนักเครื่องเปล่าๆ แต่สามารถใช้งานได้จริง และใช้งานได้ดีอีกด้วย
Battery / Heat / Noise
แบตเตอรี่ของ Lenovo IdeaPad C340 เป็นแบบฝังไว้ในเครื่องเหมือนกับโน้ตบุ๊คหลายๆ รุ่นในปัจจุบัน สามารถทำงานต่อเนื่องยาวนานประมาณเกือบ 10 ชั่วโมงต่อเนื่องในการใช้งานแบบดู YouTube ผ่าน Wi-Fi ถือได้ว่าเป็น 2-in-1 Notebook อีกรุ่นหนึ่งเลยที่มีแบตเตอรี่ที่ใช้ได้ยาวนานในระดับนึง ในการใช้งานจริงก็ถือว่าน่าประทับใจแล้ว พกพาไปใช้งานนอกสถานที่ทั้งวันได้เลย ที่สำคัญมีเทคโนโลยีรองรับระบบชาร์จเร็ว (Rapid Charge) ด้วยการชาร์จแบตเตอรี่ได้มากถึง 80% ในการชาร์จเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง
ผลการตรวจสอบอุณหภูมิขณะเครื่องทำงานปกติ มีเปิดโปรแกรมทำงานอยู่ด้วยบางส่วน โดยทดสอบเมื่ออยู่ในห้องแอร์อุณหภูมิประมาณ 26 องศา พบว่าความร้อนของ CPU จะอยู่ในช่วง 40 องศา ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับปกติของโน้ตบุ๊กบางเบาที่ใช้ชิป AMD Ryzen 7 3700U ส่วนถ้าเป็นอุณหภูมิหลังจากทดสอบงานประมวลผลหนักๆ แล้ว จะเห็นว่าอุณหภูมิสูงสุดของ CPU นั้นพุ่งไปสูงสุดที่ 81 องศา ที่ต้องว่าค่อนข้างเย็นทีเดียว ทำให้ความร้อนที่แผ่ออกมานั้นก็ม่ได้รบกวนการทำงานแต่อย่างใด รวมไปถึงถ้าไม่ใช้งานหนัก ตัวเครื่องเองก็ระบายความร้อนออกไปได้อย่างรวดเร็วดี